ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักการแพทย์
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร 0 2622 5047 โทรสาร 0 2224 2969

Description: D:\พี่จ๋า(พรเพ็ญ)\Bangkok Health Fair\Bangkok Health Fair 2010\BHF 2010 - 1 ต.ค. 53 - 2\BHFอื่นๆ\logo ทั้งชีวิต...เราดูแล\Logo ทั้งชีวิต เราดูแล.jpg

สัมมนาวิชาการประจำปี 2555 สนพ. ลุล่วง บุคลากรปลื้มเรียนรู้การบริหารจัดการภัยพิบัติ

            ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิด “การสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10” โดยมี นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์คอยให้การต้อนรับและนำชมงานสัมมนา ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา

            หลังจากที่เมื่อเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครต้องกลายเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยซึ่งได้สร้างผลกระทบอันหนักหน่วงในด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ในฐานะที่สำนักการแพทย์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของชาว กทม. จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ และเตรียมพร้อมในด้านมาตรการขั้นตอนการปฏิบัติ รวมไปถึงเตรียมแผนรองรับสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกขณะ เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
            ด้วยเหตุนี้สำนักการแพทย์จึงได้เลือก Theme ของการสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งนี้ เป็นเรื่อง “ภัยพิบัติ...จากวิกฤตสู่โอกาส” เพื่อให้ความรู้ด้านการเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ แก่ผู้เข้าสัมมนาผ่านกิจกรรมทางวิชาการมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การประกวดผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ และผลงานการพัฒนาคุณภาพบริการ ตลอดจนการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบการนำเสนอปากเปล่าทั้งในภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาวิชาการให้แก่บุคลากรในสังกัด อีกทั้งยังมีบุคลากรภายนอกสังกัด กทม. ได้เข้าร่วมการประกวดด้วย โดยสัมมนานี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2555 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยข้าราชการตั้งแต่ระดับข้าราชการระดับปฏิบัติงาน – ระดับบริหารสังกัดสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย รวมทั้งบุคคลภายนอกในข้างต้น ให้ความสนใจและตอบรับเข้าร่วมการสัมมนาเป็นจำนวนมาก
            พิธีเปิดการสัมมนาเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 08.30 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเดินทางมาเป็นประธานในพิธี ณ ห้องราชา โดยมีท่านรองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้กล่าวรายงานและมอบของที่ระลึกแด่ท่านประธาน หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้นท่านรองปลัด ฯ และคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ก็นำท่านผู้ว่า ฯ เยี่ยมชมบรรยากาศรอบงาน ซึ่งประกอบไปด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ รวมไปถึงบริษัทยาและเวชภัณฑ์ที่มาเปิดบู้ธแสดงผลิตภัณฑ์กันอย่างคับคั่ง จากนั้นไม่นาน พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ท่านผู้รองว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เดินทางมาสมทบด้วยเช่นกัน

            ด้านการสัมมนาในห้องราชาของวันที่ 30 เป็นการสัมมนาในหัวข้อ “มาตรฐาน JCI กับการจัดการภัยพิบัติ โดย นพ.สมพร คำผง ที่ปรึกษาอาวุโส Heath care expert ผู้เชี่ยวชาญจาก JCI & สรพ. ต่อด้วยช่วงเวลา Luncheon Symposium ในหัวข้อ “ภัยพิบัติกับองค์การเภสัชกรรม” รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ปิดท้ายการสัมมนาในวันนี้ด้วยหัวข้อ “การจัดการภัยพิบัติ” โดย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงประสบการณ์ของวิทยากรให้การสัมมนาในวันแรกผ่านพ้นไปด้วยสาระน่ารู้ หลักการที่จำเป็นในเรื่องภัยพิบัติ นอกจากนี้ในช่วงบ่ายยังมีการประกวดโปสเตอร์ (Poster Presentation) ในช่วงของการนำเสนอแนวคิดในการออกแบบ และรายละเอียดของนวัตกรรม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินหาผู้ได้รับรางวัลซึ่งจะประกาศผลในวันรุ่งขึ้น

 

            ในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 การสัมมนายังคงดำเนินไปด้วยความเข้มข้นทั้งในเนื้อหาสาระและความรู้ที่น่าสนใจอีกเช่นเคย โดยหัวข้อแรกของช่วงเช้าเป็นการบรรยายในหัวข้อ “Disaster Risk in Bangkok…อุทกภัย โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ดุษฎีบันฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนจะเป็นช่วงของการประกวดการนำเสนอผลงาน (Oral Presentation) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ห้องย่อย ตามแต่หัวข้อที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย

    1. ห้องพัชราวดี เป็นผลงานด้านพัฒนาคุณภาพ

    2. ห้องพัชราวดี 2 เป็นผลงานด้านวิจัยแพทย์ / เภสัชกร

    3. ห้องพัชราวดี 3 เป็นผลงานด้านวิจัยทันตแพทย์ / นักกายภาพบำบัด / พยาบาลวิชาชีพ

    4. ห้องพัชราภา เป็นผลงานด้านUnit Cost

    5. ห้องราชา เป็นการนำเสนอในภาคห้องภาษาอังกฤษ

หลังจากนั้นในช่วงรับประทานอาหารจะเป็น Luncheon Symposium การบริหารจัดการห้องไตเทียม และการบริหารยา ETO ในภาวะน้ำท่วม” โดย พญ. ชัญชนา บุญญไกร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตากสิน ต่อด้วยหัวข้อ “แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัว...ที่น่ากลัว” โดย รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ รองคณบดีฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “Urban Medicine” โดย นพ. วิสุทธิ์ อนันต์สกุลวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ – นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

            จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงของการประกาศผลการประกวด ซึ่งก็ได้รับเกียรติจาก นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เป็นผู้มอบรางวัล ปรากฏว่า รางวัลที่ 1 Poster Presentation ผู้ได้รับรางวัลคือ ธีรพันธุ์ สุวรรณยอด นายช่างเทคนิคชำนาญงาน สังกัด โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร กับผลงาน อุปกรณ์ตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่วในน้ำ ด้านผลการประกวด Oral Presentation ทั้ง 5 ห้องผลการประกวดเป็นดังนี้

  1. ห้องพัชราวดี (ห้องพัฒนาคุณภาพ) รางวัลที่ 1 เรื่อง “กระบวนการพัฒนาระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในภาวะวิกฤต” นำเสนอโดย
    ผศ.นพ. ธีระ กลลดาเรืองไกร จากโรงพยาบาลศิริราช

  2. ห้องพัชราวดี 2 (ห้องวิจัยแพทย์ / เภสัชกร) รางวัลที่ 1 เรื่อง “การเปรียบเทียบความเพียงพอของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ได้จากการใช้ Manual vacuum aspiration กับการใช้อุปกรณ์ขูดมดลูกชนิดโลหะในผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก” นำเสนอโดย นพ. พิสิฐ บูรณวโรดมกุล จากโรงพยาบาลกลาง

  3. ห้องพัชราวดี 3 (ห้องวิจัยทันตแพทย์ / นักกายภาพบำบัด / พยาบาลวิชาชีพ) รางวัลที่ 1 เรื่อง “ผลของเสียงจังหวะการเต้นของหัวใจต่อระยะเวลาการหลับในทารกเกิดก่อนกำหนด” นำเสนอโดย คุณสมจิต วรรณขาว จากโรงพยาบาลตากสิน

  4. ห้องพัชราภา (ห้อง Unit Cost) รางวัลที่ 1 เรื่อง “การวิเคราะห์ต้นทุนการให้บริการผู้ป่วยโรงพยาบาลกลางปีงบประมาณ 2553” นำเสนอโดย ทันตแพทย์สมเกียรติ อุดมไพบูลย์สุข จากโรงพยาบาลกลาง

  5. ห้องราชา (ห้องภาษาอังกฤษ) รางวัลที่ 1 เรื่อง “Correlation between Fluorescein  Angiography and Spectral Domain Optical Coherence Tomography in the Diagnosis of Cystoid Macular Edema” นำเสนอโดย นพ. ธีระพัฏ จิตต์พูลกุศล จากโรงพยาบาลกลาง

            ภายหลังมอบรางวัล ท่านผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ได้ทำพิธีปิดการสัมมนาซึ่งได้กล่าวขอบคุณคณะทำงานทุกชุดที่ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา รวมถึงบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ได้ลงทุนลงแรงสร้างสรรค์ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเช่นนี้ออกมา และหวังว่าบุคลากรทุกท่านจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้กับงานที่รับผิดชอบเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต